ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และสนับสนุนขีดความสามารถด้านความร่วมมือของอุตสาหกรรมด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่ในภาคการผลิต ขณะเดียวกันยังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่ง กนอ.จะเร่งดำเนินการประสานงานต่อไป
“กนอ.จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การจัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจ และการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทย-จีนรวมถึงการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ซึ่ง MOU มีผลบังคับใช้ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม” นายวีริศ กล่าว
นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยรัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็นเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นใหม่ เพิ่มเส้นทางขนส่งทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงประเทศในแถบชายฝั่งรวมถึงทวีปแอฟริกาด้วย